ครูพี่โอ๊ะเยี่ยมชมการเรียนออนไลน์ “Interactive” ที่ Bangkok Prep ชื่นชม การเรียนการสอนที่ทันสมัย ตอบโจทย์ยุค 4.0
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2563 เวลา 13.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เยี่ยมชมการจัดการศึกษาออนไลน์ในรูปแบบ Interactive ของโรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep (Bangkok International Preparatory & Secondary School) เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โดยมีนางภัทราดา ยมนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ให้การต้อนรับรมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมการพัฒนาของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านวิชาการ สื่อการเรียนการสอน สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบดูแลนักเรียนที่ดี โดยเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งในส่วนของโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จนมีชื่อเสียงและความนิยมในหมู่ผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่สำคัญคือ มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ในรูปแบบ Interactive ครูผู้สอนและนักเรียนสามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น และร่วมกิจกรรมการเรียนแบบ Real-time ทั้งยังมีเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่จูงใจให้เด็กต้องการจะเรียน และร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้านของตัวเองในทุกวัน
นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ถือว่าโรงเรียนแห่งนี้สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงประกาศปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษได้ในทันที เนื่องจากใช้ระบบการสอนออนไลน์อยู่แล้ว ทั้งยังมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต (wi-fi) ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมมีระบบส่งการบ้าน แบบฝึกหัด และการแชร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนการประเมินผลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยความร่วมมือของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่จะต้องประเมินการเรียนการสอนร่วมกับครูผู้สอนด้วย
“การมาเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการเรียนออนไลน์ในช่วงเวลาอย่างนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีที่ได้มอบให้ สช.รวบรวมข้อมูลโรงเรียนเอกชนที่พร้อมจะแชร์ระบบการเรียนออนไลน์ในวิชาต่าง ๆ ให้โรงเรียนอื่น ๆ ได้นำไปใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโรงเรียนให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกวิชา เพราะต้องยอมรับว่า แต่ละโรงเรียนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน มีวิชาที่รองรับการเรียนออนไลน์ทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน และก็มีอีกหลายวิชาที่จะต้องหามาเสริมเติมเต็ม เพื่อให้มีความพร้อมสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้พบว่าส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ในรูปแบบ Interactive แทนการเรียนในห้องเรียนได้เต็มรูปแบบ เพราะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียร และรองรับการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยี ในส่วนของนักเรียนก็ค่อนข้างมีความพร้อม จึงเป็นเรื่องที่จะต้องนำกลับไปทบทวนปรับปรุงและเสริมเติมเต็ม ทั้งในเรื่องของสื่อการเรียนการสอนที่รองรับอุปกรณ์และรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย และสามารถเข้าถึงผู้เรียนให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep เอง ก็มีจิตใจอันเป็นกุศลและพร้อมจะเผื่อแผ่การเรียนการสอนออนไลน์ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เช่นกัน โดยได้เชิญโรงเรียนใกล้เคียงมาเยี่ยมชมการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์การสอนร่วมกันตามบริบทและศักยภาพของโรงเรียน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ในโอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมห้องเรียนออนไลน์และการจัดทำสื่อการเรียนการสอน อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น Year 3, การสอดแทรกดนตรีในการเรียน Grammar warm-up 1, การแสดงของครูก่อนเริ่มเรียนของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล, บทเรียน Phonics ในวิชาภาษาจีนแมนดาริน เป็นต้น
ซึ่งครูแต่ละคนมีเทคนิคและวิธีการสอน ตลอดจนสร้างสื่อที่ดึงดูดความสนใจนักเรียนที่เรียนอยู่ที่บ้านได้เป็นอย่างดีภายใต้การดูแลจากครอบครัวในระดับเด็กเล็ก ๆ ที่จะต้องลงทะเบียนเข้าระบบเรียนออนไลน์ ตลอดจนคอยเฝ้าสังเกตนักเรียนในการเรียน การมีส่วนร่วม และการส่งการบ้าน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องแสดงความคิดเห็นและประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กผ่านระบบออนไลน์สะท้อนไปยังครูด้วย
โรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep (Bangkok International Preparatory & Secondary School) เป็นโรงเรียนนานาชาติที่จัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรตามมาตรฐานของอังกฤษ (National curriculum of England) ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรต่างประเทศ CIS และ NEASC (ปี 2011-2021) และการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ปี 2554 โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับเนสเซอรี่-Year 13
ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติ Bangkok Prep มีนักเรียนทั้งไทยและต่างชาติ รวม 1,168 คน มีครูและบุคลากรทั้งไทยและต่างชาติ รวม 247 คน โดยโรงเรียนมีจุดเด่นด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ด้านภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไทย และด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ
ขอบคุณข้อมูลจาก: ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.