มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสฯ ประเภทอุดมศึกษา ผลคะแนนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ค่าคะแนน 93.49 มีผลการประเมินระดับ A และได้รับการจัดอันดับที่ 8 จาก 83 สถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับการประเมิน ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน 2563
การประเมิน ITA มีการเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 การเก็บข้อมูลจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (Internal Integrity and Transparency Assessment : IIT) โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกระดับที่ปฏิบัติงานมา ไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรของตนเอง โดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็นใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ และ ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต ส่วนที่ 2 การเก็บข้อมูลจากผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (External Integrity and Transparency Assessment : EIT) ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็นใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร และตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงการทำงาน และ ส่วนที่ 3 การเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT) เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีคณะที่ปรึกษาการประเมิน ITA ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญและคนกลาง (third party) เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลและให้คะแนน พร้อมข้อเสนอแนะตามหลักเกณฑ์ การประเมินที่กำหนด แบ่งออกเป็น 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล และตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส มจพ. มีมาตรการภายในเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่สอดรับแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาหน่วยงาน รวมถึงข่าวประชาสัมพันธ์ แสดงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของหน่วยงาน โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร Social Network ไปยังเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน อย่างไรก็ตามยังมีเครือข่ายสังคมออนไลน์ของหน่วยงาน เช่น Facebook, Twitter, Instagram คู่มือหรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ ข้อมูลเชิงสถิติการให้บริการ E-Service ช่องทางแจ้งเรื่องร้องเรียนการทุจริต เป็นต้น
นอกจากนี้สามารถเปิดชมพร้อมรับไอเดียและข้อค้นพบใหม่ๆ จาก speaker หลากหลายวงการ ในงาน ITA DAY 2020: Open to Transparency เวทีสนทนาที่จะชวนทุกคนมาแบ่งปันไอเดีย แลกเปลี่ยนแนวคิด ส่งต่อแรงบันดาลใจและข้อค้นพบในการพัฒนาระบบราชการ เพื่ออุดช่องว่างของการทุจริตและเพื่อพัฒนาบริการสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น รับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/c/ITAnacc/featured
ขวัญฤทัย ข่าว/อรดา ภาพ