คุ้มครองสิทธิฯ ร่วมจัดประชุม “กรอบนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนในประเทศไทย : การร่วมหารือทางนโยบายภายใต้บริบทโควิด-19 และโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่จะมาถึงสำหรับประเทศไทย”
วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และเครือข่ายความรับผิดชอบทางสังคมอาเซียน (ASEAN CSR Network) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วย“กรอบนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนในประเทศไทย : การร่วมหารือทางนโยบายภายใต้บริบทโควิด-19 และโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่จะมาถึงสำหรับประเทศไทย” โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานกล่าวเปิด พร้อมด้วย อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน Ms. Gita Sabharwal ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Giuseppe Busini อุปทูตรักษาการ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ผ่านทางออนไลน์ระบบ Zoom
นอกจากนี้ ในช่วงเช้า อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบหมายให้ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรเสวนาในหัวข้อ “การผลักดันวาระแรงงานในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้สถานการณ์โรคระบาด” โดย ได้กล่าวถึง ผลการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) ในช่วงที่ผ่านมา การจัดทำมาตรการจูงใจของภาครัฐเพื่อให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน อาทิ การดำเนินโครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน การจัดทำตราสัญลักษณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Label) มาตรการลดภาษีในการส่งเสริมการจ้างงานผู้พ้นโทษ การจัดตั้งนิคมอุสาหกรรมเพื่อสร้างอาชีพให้ผู้พ้นโทษ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
สำหรับในช่วงบ่าย นางจีรภรณ์ ศิริพลัง ทุมมาศ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมการอภิปรายแลกเปลี่ยนกลุ่มย่อยในประเด็น นโยบายและแนวทางปฏิบัติด้าน CSR เพื่อส่งเสริมการค้าในระยะฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดยได้นำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของกรมฯ ในการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนแผนฯ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน การจัดทำตราสัญลักษณ์ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Label) การจัดทำคู่มือการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD สำหรับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงข้อท้าทายการดำเนินการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
และในช่วงท้าย ได้รับเกียรติจาก Mr. Greame Buckley ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป. ลาว และ Mr. Renaud Mayer ผู้แทน UNDP ประจำประเทศไทย กล่าวปิดการประชุม ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการประชุมฯ ILO จะนำไปประมวลจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่ภาครัฐต่อไป