สสว.ผลักดัน ผู้ประกอบการอาหาร
ไปตลาดมาเลเซีย ได้รับการตอบรับล้นหลาม
(กรุงเทพฯ) – สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ผลักดันผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป ให้ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ด้วยกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจในแบบ Virtual Business Matching ได้รับผลตอบรับดี มีผู้สนใจเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจล้นหลาม
แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ในช่วงปี 2020 และต่อเนื่องมายังปี 2021 ทำให้งานแสดงสินค้าในต่างประเทศต้องงด หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ ส่งผลให้การผลักดันสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเพื่อให้การส่งออกสินค้าไทย สามารถขับเคลื่อนและกลับมาดำเนินการได้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดให้มีการจับคู่ธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ในแบบ Virtual Business Matching โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลคู่ค้าในต่างประเทศ ที่มีความต้องการสินค้าไทย พบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป ได้รับการตอบรับอย่างคับคั่งจากคู่ค้าในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (หรือ สสว.) กล่าวถึงการจัดกิจกรรม Thai-Malaysia Online Business Matching (Food products) ที่ผ่านมา พบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคู่ค้าในประเทศมาเลเซียให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มโมเดิร์นเทรดในแบบไฮเปอร์มาร์ท, ตัวแทนจำหน่ายเข้าร้านสะดวกซื้อ, ตัวแทนจำหน่ายเข้าร้านในแบบ Specialty store, และอีกหลายกลุ่ม ทำให้เกิดช่องทางจำหน่ายที่หลากหลายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจากประเทศไทย ทั้งนี้เพราะชาวมาเลเซียชื่นชอบอาหารไทยมากกว่าอาหารจากต่างประเทศในกลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปที่สนใจการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย มีเงื่อนไขอยู่หลายประการที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม อาทิเช่น การได้รับเครื่องหมายฮาลาล (Halal), การมีอายุสินค้าบนชั้นวางสินค้า นานกว่า 18 เดือน (Long shelf-life), และการได้รับมาตรฐานรับรองในระดับสากล (HACCP, GMP, และอื่น ๆ) เป็นต้น นอกจากนี้ พบว่าสินค้าในกลุ่มที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงต่อการเติบโตในอนาคต
ทั้งนี้ จากการจับคู่เจรจาธุรกิจ มีผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปของไทย ได้พบปะกับผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งสิ้น 233 คู่เจรจา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย 60 ราย ได้มีการเจรจากับคู่ค้าในประเทศมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 46 ราย โดยในแต่ละคู่เจรจามีความคืบหน้าในการเจรจาการค้าที่แตกต่างกัน ทั้งความสนใจขอข้อมูลรายการสินค้าเพิ่ม, ขอใบเสนอราคา, ขอให้ส่งสินค้าตัวอย่างเพื่อทดสอบตลาด และการสั่งซื้อสินค้าเพื่อทดลองจำหน่าย ฯลฯ
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดโอกาสทางการค้าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการจากประเทศไทยสามารถเข้าถึงผู้ซื้อที่เป็นองค์กรไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก สสว. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยร่วมดำเนินการ จึงนำข้อมูลสินค้าของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทั้งหมด ไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมของผู้ซื้อและผู้ขายในแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ให้ต่างสามารถเข้าถึงและเจรจาการค้าเพิ่มเติมได้อีกนานกว่า 1 เดือนเต็ม
จากการดำเนินกิจกรรม Thai-Malaysia Online Business Matching (Food products) ในครั้งนี้ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) หน่วยร่วมดำเนินการ คาดหวังที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท ในห้วง 1 ปีข้างหน้า