สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี ลงนาม MOU ภายใต้ CTE กระชับความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ เผชิญความท้าทายรองรับการปรับเปลี่ยนในยุคดิจิทัล
3 ธ.ค.62 นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่หมุนเร็วภายใต้ยุคดิจิทัลทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องฝ่าด่านความท้าทายและต้องเร่งปรับตัว คณะกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ หน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้หารือเพื่อหาแนวทางพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและสถาบันการศึกษา โดยจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอและแฟชั่น (Center of Textile & Fashion Excellence : CTE) ภายใต้งบประมาณกองทุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พร้อมลงนามความร่วมมือกับ 5 สถาบันการศึกษา ประกอบไปด้วย ศูนย์นวัตกรรมแฟชั่น ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะคหกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี และคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ในทุกมิติให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอและแฟชั่น หรือ CTE ถือเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ หรือ Co-operative center เพื่อทำงานร่วมกันระหว่าง สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันการศึกษาทั้ง 5 หน่วย มุ่งเน้นพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) วิจัยพัฒนา(R&D) และการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ภายใต้กรอบความร่วมมือ คือ ร่วมกันพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นไทย ร่วมกันจัดกิจกรรม อบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดประสบการณ์ และกระจายความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสิ่งทอและแนวโน้มการพัฒนาสิ่งทอในอนาคต ร่วมจัดประชุมวิชาการเฉพาะทางด้านสิ่งทอและแฟชั่น ในระดับในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยกระดับการนำงานวิจัยทางด้านสิ่งทอและแฟชั่นสู่สากล ร่วมกันจัดวารสารทางวิชาการนานาชาติที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น เพื่อเป็นโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาทำการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่สากล และความร่วมมือในการวิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอและแฟชั่น (Center of Textile & Fashion Excellence : CTE) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 710 หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook Fanpage : CTE Center of textile & Fashion Excellence และwww.thaitextile.org
ด้านสถานการณ์ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสะสม 10 เดือน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.7 ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอการส่งออกมีมูลค่า 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 6.7 ขณะที่กลุ่มเครื่องนุ่งห่มการส่งออกมีมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากการขยายตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯที่ร้อยละ 8.7 หรือมีมูลค่า 796.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ Brassieres,สูท(ของบุรุษหรือเด็กชาย),Sweaters และ T-Shirt ตามลำดับ ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุลมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่สถานการณ์สหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ GSP สำหรับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ มูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มที่ถูกประกาศระงับสิทธิ์ประกอบด้วยสินค้าในพิกัด 5702,5703,6116,6117,6204,6216,6217 และ 6307 มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯสะสม 8เดือน เท่ากับ 32.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาผลกระทบที่ได้รับโดยพิจารณาจากสถานการณ์ สินค้าส่งออกหลักและแต้มต่อทางภาษี คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มจะได้รับผลกระทบจากการประกาศระงับสิทธิ์ GSP ในครั้งนี้เพียงเล็กน้อย