คุ้มครองสิทธิฯ ร่วมเสวนา “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย : จากทศวรรษแรกสู่ทศวรรษหน้า (Business and Human Rights in Asia: From the First Decade to the Next)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
วันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทย อาทิ UNDP, IOM, ILO, UN Women, UNEP, Unicef, UNESCAP และ UN WGonBHR จัดการสัมมนาการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก : ทศวรรษใหม่แห่งดำเนินงาน (UN Responsible Business and Human Rights Forum, Asia-Pacific : The New Decade of Actions?) ผ่านทางออนไลน์ระบบ Cisco Webex Meetings เพื่อติดตามความคืบหน้าของภาคส่วนต่างๆในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจัยและอุปสรรคในการส่งเสริมธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในเอเชียแปซิฟิก การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19 และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมี ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก จำนวนประมาณ 3,000 คน เข้าร่วม
สำหรับการสัมมนาฯ ในวันนี้ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้ นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย : จากทศวรรษแรกสู่ทศวรรษหน้า (Business and Human Rights in Asia: From the First Decade to the Next) ร่วมกับ Mr. Dante Pesce ประธานคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน Mr. Mualimin Abdi อธิบดีกรมสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ประเทศอินโดนีเซีย Ms. Masayo Ogawa ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น Ms. Sumi Dhanarajan ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์กร Forum of the Future และ Mr. Xiaohui Liang รองหัวหน้าสำนักงานความรับผิดชอบต่อสังคม สภาอุตสาหกรรทสิ่งทอ ประเทศจีน โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฯ ของประเทศไทย โดยเน้นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจ เช่น ความร่วมมือกับภาคประชาสังคม การศึกษามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การศึกษามาตรการปรับปรุงกฎหมาย/มาตรการเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (Anti-SLAPP Law) การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระดับชุมชน การจัดตั้ง Business and Human Rights Academy นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงข้อท้าทายในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกันระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วย ทั้งนี้ การสัมมนาฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Bangkok Business and Human Rights Week : BBHR Week) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2564